ประวัติ หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล พระมงคลวุฒาจารย์
0.00 บาท
ติดต่อสอบถาม

      ประวัติ หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล  ( พระมงคลวุฒาจารย์ )

ชาติภูมิ พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ หรือหลวงพ่อพูน ฐิตสีโล มีนามเดิมว่า ทองพูน นามสกุล สัญญะโสภี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก) โยมบิดาชื่อแบน โยมมารดาชื่อสมบุญ สัญญะโสภี ณ บ้านสามกอ หมู่ ๑ ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    การศึกษา

หลวงพ่อพูนหรือเด็กชายทองพูนในขณะนั้นได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนศรีรัตนานุกูล หรือปัจจุบันนี้คือโรงเรียนวัดบ้านแพน “ศรีรัตนานุกูล” จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งอายุได้ ๑๔ ปี จึงได้ติดตามหลวงปู่คำปัน พระธุดงค์มาจากจังหวัดลำพูน ขึ้นไปเมืองเหนือเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้กลับมายังบ้านเกิดโดยสำเร็จวิชาด้านโหราศาสตร์กลับมา เมื่ออายุเพียง ๑๕ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ นายทองพูนจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านแพน จากคำชวนของหลวงพ่อวาสน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพนในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๒ โดยมี พระปลัดแจ่ม วัดโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในปีนั้นเองสามเณรทองพูนก็สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี และหลังจากบรรพชาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยได้ ๓ ปี สามเณรทองพูนจึงได้อุปสมบท เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ปีมะโรง โดยมีพระครูปริยัติคุณูปการณ์ (วาสน์) วัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเกษมคณาภิบาล (หลวงพ่อมี) วัดมารวิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิบูลย์ธรรมศาสน์ (หลวงพ่อสังวาลย์)วัดกระโดงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุสงฆ์เวลา ๐๘.๐๐ น. ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตสีโล” จากนั้นจึงได้ตั้งใจสอบนักธรรมชั้นโทและ ชั้นเอกได้สำเร็จภายใน ๒ ปี

  การศึกษาพุทธาคม

ในด้านพระเวทย์วิทยาคมหลวงพ่อพูนท่านได้สนใจและได้ศึกษาในเรื่องพุทธเวทย์มหามนต์ซึ่งเป็นศาสตร์แห่ง “พุทธ” มาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี โดยในเวลานั้นได้ติดตามหลวงปู่คำปัน พระธุดงค์ที่มาจากภาคเหนือขึ้นไปอาศัยอยู่ภาคเหนือเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้กลับมาบ้านเกิดพร้อมทั้งตำราการดูดวงที่ถือได้ว่าแม่นยำอย่างหาใครเปรียบได้ยาก ไม่เพียงแค่นั้นหลวงพ่อพูนท่านยังได้ฝึกเรียนกรรมฐานกับอาจารย์พริ้งฆราวาสจอมขมังเวทย์ในย่านบ้านแพน และได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำน้ำมนต์มาจากอาจารย์พริ้งจนจบหลักสูตรวิชา จึงเป็นเหตุให้น้ำพระพุทธมนต์ที่หลวงพ่อพูนทำขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก สามารถใช้ขับไล่ภูตผี ปีศาจ เสนียดจัญไรได้อย่างชะงัด

นอกจากอาจารย์พริ้งแล้วหลวงพ่อพูนยังได้ร่ำเรียนวิชามาจากอาจารย์ลพ เกตุบุตร ซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อวาสน์พระอุปัชฌาย์ของท่าน และเป็นศิษย์เอกของอาจารย์จาบแห่งตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยหลวงพ่อพูนได้รับการถ่ายทอดวิชาการลงยันต์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงพ่อมักใช้จารลงในแผ่นยันต์หรือแหวนอยู่เสมอ ๆ สำหรับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์นั้น หลวงพ่อพูนได้ศึกษาวิชามาจากหลวงพ่อมี วัดมารวิชัย ที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน จนมีความเชี่ยวชาญด้านพระเวทย์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาพระคาถาชินบัญชรอันลือลั่นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่แม้ว่าหลวงพ่อมีจะมีความเชี่ยวชาญในพระคาถานี้อย่างหาผู้ใดเทียบได้ยาก เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ยังชมหลวงพ่อพูนว่า “มีความเชี่ยวชาญพระคาถาชินบัญชรมากกว่าท่าน” มูลเหตุของการเรียนตะกรุดดอก(ไม้)ทอง มูลเหตุในการเรียนวิชาการทำตะกรุดของหลวงพ่อพูนนั้น คงสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงพ่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระกรรมวาจาจารย์ คือเป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านแพน ในวันหนึ่งมีพระในวัดที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ซึ่งกำลังจะลาสิกขาได้มากราบลาหลวงพ่อพร้อมกับเอ่ยปากขอของดีจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านจึงดุไปว่าตัวท่านเองนั้นไม่มีวิชาอะไรและจะเอาของดีที่ไหนมาให้ ต่อมาหลวงพ่อท่านทราบว่าที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีพระอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางด้านการทำตะกรุดดอกทอง นั่นก็คือหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเขียว ว่ากันว่าฉี่ของหลวงพ่อเขียวใครดื่มกินเข้าไปจะอยู่ยงคงกระพัน และเคยมีการทดลองนำปืนมายิงใส่ฉี่ของท่านปรากฏว่ายิงไม่ออกจริง ๆ วันหนึ่งหลวงพ่อสนั่นท่านได้รับกิจนิมนต์ให้มาเทศน์ที่วัดบ้านแพน หลวงพ่อพูนก็เข้าไปกราบนมัสการท่านและก็เลยถือโอกาสขอเรียนวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่น ตอนแรกที่ขอเรียนวิชานั้นหลวงพ่อสนั่นท่านไม่ให้ แต่พอสนทนากับท่านนานเข้า หลวงพ่อสนั่นจึงหลุดปากบอกกับหลวงพ่อพูนว่าถ้าอยากได้ให้ไปหาท่านที่วัดเสาธงทอง อยู่ต่อมาจนวันหนึ่งหลวงพ่อพูนท่านมีธุระต้องไปที่วัดเสาธงทอง ท่านจึงนึกได้ว่าเคยขอวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่นไว้ท่านจึงได้ไปร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดดอก(ไม้)ทองจากหลวงพ่อสนั่นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วิชาตะกรุดดอกไม้ทอง นั้น เป็นวิชาเอกของท่าน ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า  ความจริง ตะกรุดนี้ ชื่อเดิมจริง ๆ ของมัน  ไม่มีคำว่า “ดอกไม้”  คือ หลวงพ่อหนั่น ท่านเรียกว่า “ตะกรุด...ทอง”   แต่มีนักเขียนในหนังสือพระเล่มหนึ่ง มาขอสัมภาษณ์ท่านที่วัด  พอได้ยินชื่อตะกรุด ก็บอกว่า  ชื่อนี้ มันลงหนังสือไม่ได้นะครับหลวงพ่อ   ชื่อมันหวาดเสียวเกินไป

หลวงพ่อพูน ท่านจึงบอกว่า  ถ้างั้น ต้องจุดธูปบอกกล่าว หลวงพ่อหนั่น  ขออนุญาตเรียกชื่อตะกรุดตามตำราท่านเสียใหม่ว่า “ตะกรุดดอกไม้ทอง”   นั่นแหละ ตั้งแต่นั้นมา  จึงเรียกว่า ตะกรุดดอกไม้ทอง  และโด่งดัง ไปทั่วประเทศ