หลวงปู่ขันธ์ พระทองคำ เมืองแปดริ้ว
เผยแพร่ประวัติ
ติดต่อสอบถาม

 

“พระครูโสภิตมงคลการ” หรือ “หลวงปู่ขันธ์ สิริวัณโณ” พระเถระเมืองแปดริ้ว ได้รับการยกย่องว่าเคร่งครัดระเบียบวินัย ใส่ใจกัมมัฏฐาน มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ

ปัจจุบัน สิริอายุ 96 ปี พรรษา 76 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต (ต้นสน) อ.บ้าน โพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลเทพราช

อัตโนประวัติ หลวงปู่ขันธ์เกิดในสกุล คงสาคร เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2466 ที่บ้านหมู่ที่ 1 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ครอบครัวท่านประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

 

หลังจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 จากโรงเรียนในหมู่บ้านแล้ว ออกมาช่วยงานครอบครัว

เมื่อหลวงปู่ขันธ์ มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา กอปรกับต้องการทดแทนพระคุณบิดา มารดา จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย.2486 ที่วัดโพธาราม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มีพระครูวิจารณ์ธรรมานุวัตร วัดโพธาราม อ.เมืองฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูบู่ วัดประเวศวัฒนาราม อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์แม้น วัดโพธาราม ต.บางพระ อ.เมืองฉะเชิงเทรา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่ขันธ์ท่านได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมรับใช้อุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งศึกษาพุทธาเวทย์วิทยาคม ทั้งปวง จากองค์พระอุปัชฌาย์ และครูบาอาจารย์ในท้องถิ่นนั้น

 

ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ท่านสำเร็จนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ณ สำนักเรียนวัดมงคลโสภิต อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

ต่อมา กราบพระอุปัชฌาย์ ออกท่องธุดงค์แสวงวิเวกประพฤติธรรมไปในที่ต่างๆ ตัดสินใจออกสะพายย่ามแบกกลดเดินทางออกจากวัด ตามแบบพระธรรมยุต มุ่งศึกษาแนวทางปฏิบัติตามแบบอย่างบูรพาจารย์สายพระป่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ฝากตัวเรียนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานกับศิษย์สายพระอาจารย์มั่นรูปสำคัญหลายรูป เช่น หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล, หลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากเป้ง, หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม

นอกจากนี้ ยังธุดงค์ไปศึกษาวิปัสสนากับท่านพุทธทาส ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฏร์ธานี อีกด้วย

ในช่วงถือธุดงควัตรนั้น หลวงปู่ขันธ์ เล่าย้อนอดีตให้ฟัง ว่า ถือธุดงค์วัตรนั้นเป็นไปอย่างอุกฤษฏ์ ได้บุกป่าฝ่าดงไปมาเกือบทั่วประเทศ มีครั้งหนึ่ง เข้าไปเจริญภาวนาในถ้ำ พอออกจากถ้ำจะไปบิณฑบาต พบเสือแม่ลูกอ่อนที่ปากถ้ำ ต่างจ้องตากันอยู่ จิตตอนนั้นไม่คิดกลัว มีแต่การกำหนดรู้เท่านั้น ไม่นานเสือแม่ลูกอ่อน ก็กระโดดหายไปในป่าลึก”

นอกจากนี้ มีสติปัญญาดีเลิศ มีความจำได้แม่นยำมาก สามารถท่องสวดปาติโมกข์ โดยลำพังรูปเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ

ต่อมา เดินทางกลับวัด คอยช่วยเหลืองานศาสนกิจภายในวัด พ.ศ.2488 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดมงคลโสภิต

ด้วยความเป็นพระปฏิบัติดี เคร่งครัดพระธรรมวินัย ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต ในปี พ.ศ.2511

 

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 เป็นเจ้าคณะตำบลเทพราช พ.ศ.2536 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2546 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลเทพราช

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2520 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ในราชทินนามที่พระครูโสภิตมงคลการ พ.ศ.2528 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2544 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2552 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิม

หลวงปู่ขันธ์ มีความเชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระเป็นยิ่งนัก ดังปรากฏว่า ได้รับพระราชทานพัดยศขาว และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายวิปัสสนาธุระ

 

ลักษณะพิเศษของหลวงปู่ขันธ์ อันควรจดจำ คือ ท่านมีรูปกายธาตุขันธ์ สูงใหญ่ คล้ายพระโบราณ มีอดีตนายตำรวจมือปราบ จากจังหวัดชุมพร ได้เดินทางมากราบหลวงปู่ขันธ์ ถึงกับอุทานว่า หลวงปู่ขันธ์ท่านมีรูปร่างสูงใหญ่ เหมือนหลวงปู่สงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย เทพเจ้าแห่งชุมพร ไม่ผิดเพี้ยน ,ชาวบ้านอีกกลุ่ม มาจากบางขุนเทียน ก็ว่า หลวงปู่ขันธ์ ท่านสูงใหญ่ คล้ายหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร บางขุนเทียนอีกเช่นกัน
หลวงปู่ขันธ์ ท่านเป็นพระอารมณ์ดี ทรงอารมณ์อยู่ในญาณ และภาวนารักษาอารมณ์อยู่เสมอๆ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวแปดริ้ว และศรัทธาสาธุชนโดยแท้